วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2562

จริงหรือไม่ที่ว่านาฬิกานั้นเป็นแค่เครื่องบอกเวลาหรือเครื่องประดับ




 ก่อนที่ทุก ๆ ท่านจะอ่านบทความนี้ ผมมีคำถามเล็ก ๆ สำหรับทุก ๆ คน โดยขอท่านตั้งคำถามสำหรับตัวท่านในใจว่า นาฬิกาที่อยู่บนข้อมือของท่านที่ใช้ดูอยู่ทุกวันนั้น ท่านรู้จักมันดีแล้วหรือไม่ มันมีความหมายอะไรซุกซ่อนอยู่ในนาฬิกานอกเหนือจากการเป็นเพียงเครื่องบอกเวลาหรือไม่ หรือเป็นแค่เครื่องประดับชิ้นหนึ่ง   เมื่อท่านได้คำตอบสำหรับตัวท่านเองแล้ว

  ก่อนที่ท่านจะอ่านบทความเรื่องนี้ ผมขอให้ท่านได้ดูรูปนาฬิกายี่ห้อ ETERNA รุ่น KON-TIKI ก่อนนะครับ ซึ่งเป็นนาฬิกาที่ผมชอบเป็นพิเศษ และตามหามานานแล้ว (แต่ยังไม่มีตัวสภาพสมบูรณ์ในครอบครองสักเรือน) แล้วท่านจะทราบจากบทความนี้ว่าทำไมผมจึงชอบ เมื่อท่านดูภาพนาฬิกาแล้วผมขอท่านจดจำความรู้สึกที่ท่านมีต่อนาฬิกาเรือนนี้ให้ดีนะครับว่าเป็นอย่างไร  ภายหลังจากที่ท่านอ่านบทความนี้เสร็จแล้ว ผมขอท่านย้อนกลับมาดูภาพนาฬิกาเรือนนี้อีกครั้ง แล้วสำรวจดูว่าท่านมีความรู้สึกต่อนาฬิกาเรือนนี้อย่างไร เหมือนหรือแตกต่างกันกับครั้งแรกที่ท่านได้เห็นนาฬิกาเรือนนี้ก่อนที่จะอ่านบทความ

    ก่อนอื่นผมต้องขอเรียนท่านผู้อ่านก่อนนะครับ ว่าผมมิใช่ผู้ที่รู้ดีที่สุด เนื่องจากนาฬิการุ่นนี้มีมานานแล้ว ผมก็เกิดไม่ทันในยุคที่นาฬิการุ่นนี้ออกมาจำหน่าย ทั้งไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วผู้ที่คิดสร้าง ออกแบบ และตั้งชื่อรุ่นนาฬิกาเรือนนี้เขาคิดอย่างไร ผมเพียงเขียนมาจากข้อมูลและประสบการณ์ที่ผมรู้และทราบมาจากการอ่าน รวมทั้งจากการที่ผมชอบหนังสือเล่มหนึ่งมาก  ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็ว่าได้ ทำให้ผมสนใจนาฬิการุ่นนี้เป็นพิเศษ จึงใคร่จะแบ่งปันสิ่งที่ผมรู้ให้ทุก ๆ ท่านที่ชื่นชอบนาฬิกาได้ทราบบ้าง (หากท่านมีข้อมูลอื่นที่ถูกต้องกว่าผมก็ขอน้อมรับคำติชมและแนะนำนะครับ) ความยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติอันนี้เกี่ยวข้องกับนาฬิกาอย่างไรเชิญอ่านได้เลยครับ





  เรื่องราวที่มาของบทความนี้สืบเนื่องจากนานมาแล้วช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีชายชื่อ ธอร์ ฮีเยอร์ดอล์ล ชาวนอร์เวย์ ผู้ซึ่งมีนิสัยไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค รักการผจญภัยเฉกเช่นชาวไวกิ้ง สงสัยในสิ่งที่ตนเองพบเห็นถึงอารยธรรมโบราณแถบหมู่เกาะทะเลใต้ และชาติพันธ์ของมนุษย์แถบหมู่เกาะนี้ เป็นต้น (หมู่เกาะแถบตาฮิติ ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ซึ่งหมู่เกาะและผู้คนในถิ่นนี้เรียกขานกันว่าชาวโปลินิเชี่ยน)

  ด้วยการที่ฮีเยอร์ดอล์ลสนใจความงามหมู่เกาะทะเลใต้ ซึ่งมีสมญานามว่าไข่มุกแห่งแปซิฟิค จึงได้ไปอยู่คลุกคลีกับชนพื้นเมืองที่ตาฮิติชั่วระยะเวลาหนึ่ง ได้เรียนรู้วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี ของชนพื้นเมืองมาบ้าง ประการสำคัญคือได้รับฟังถึงเรื่องที่มาของชนพื้นเมืองซึ่งอาศัยอยู่ตามหมู่เกาะแถบนี้ว่า มาจากผู้ซึ่งมีเรื่องเล่าขานว่าเป็นโอรสของพระอาทิตย์ เป็นเทพเจ้าของชาวเกาะ และเป็นผู้ปกครองหรือหัวหน้าคนแรกของชนชาวเกาะแถบนี้ ซึ่งมีชื่อว่า คอน-ทิกิ ฮีเยอร์ดอล์ลจึงเกิดความสงสัยว่าอยู่ ๆ จะมีมนุษย์มาอยู่บนเกาะนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้

  แต่จะต้องมีการย้ายถิ่นฐานมาจากที่ใดที่หนึ่งเป็นแน่ แล้วจะเดินทางมาได้อย่างไรในเมื่อหมู่เกาะแถบนี้อยู่ห่างไกลจากแผ่นดินที่ใกล้ที่สุดคืออเมริกาใต้นับพันไมล์ทะเล ซึ่งเมื่อ 1500 ปี ที่แล้วย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ว่าจะมีพาหนะใดนำพามนุษย์ไปได้ไกลขนาดนั้น แต่ฮีเยอร์ดอล์ลก็ยังเชื่อว่ามนุษย์ยุคโบราณมีความสามารถในการทำสิ่งที่มนุษย์ยุคปัจจุบันคาดไม่ถึง จึงน่าจะมีสิ่งใดนำพาพวกเขาเหล่านั้นไปยังหมู่เกาะทะเลใต้ได้เป็นแน่

   ฮีเยอร์ดอล์ลจึงได้ไปศึกษาหาข้อมูลและอ่านตำราอันเกี่ยวกับอารยธรรมโบราณต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งเขาพยายามตั้งข้อจำกัดให้แคบลงไปว่าการอพยพย้ายถิ่นฐานน่าจะเกิดจากที่ใด มีจุดเริ่มต้นที่ไหน ทั้งนี้ก็ด้วยการเปรียบเทียบลักษณะทางกายภาพของชนชาวเกาะกับชาวแผ่นดินใหญ่ที่ใกล้ที่สุด ก็ได้ความว่ามีลักษณะตรงกับชนพื้นเมืองโบราณชาวอินคาแถบประเทศเปรู ฮีเยอร์ดอล์ลจึงได้ศึกษาหาข้อมูล รวมทั้งเรื่องเล่าเก่าแก่ปรัมปราของชาวอินคาโบราณ ก็ได้เค้าโครงว่าแต่เดิมดินแดนแถบนั้นมีเทพเจ้าผู้ปกครองและคอยอบรมสั่งสอนชาวอินคาโบราณให้มีอารยธรรม พร้อมกับเขาเหล่านั้นได้สร้างอารยธรรมไว้เป็นสิ่งปลูกสร้างมากมายให้มีความเจริญ (ซึ่งพบอยู่ในรูปร่องรอยอารยธรรมโบราณของชาวอินคาแถบประเทศเปรู) แต่อยู่ ๆ อารยธรรมเหล่านั้นก็หยุดชะงักไม่มีการสืบทอดอารยธรรมต่อ (ซึ่งน่าสงสัยยิ่งนักว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น)

  ชนชาวพื้นเมืองแถบเปรูก็กลับไปใช้ชีวิตแบบชนเผ่าต่อไป และพวกเขาเหล่าผู้มีอารยธรรมนั้นก็ได้สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย คงทิ้งไว้เพียงซากอารยธรรมที่หลงเหลือมาจนถึงทุกวันนี้ ความข้อนี้จึงเป็นจุดสงสัยของฮีเยอร์ดอล์ลเป็นอย่างมาก เขาจึงได้ค้นคว้าเพื่อหาข้อสรุปตรงนี้ต่อไป ก็ได้ความว่าเมื่อนานมาแล้วชนพื้นเมืองชาวอินคาได้ทำการโค่นล้มบรรดาผู้ปกครองเหล่านั้น บรรดาผู้ปกครองเหล่านั้นจึงได้จากไปทางทะเลทิศตะวันตก ด้วยเหตุนี้เขาจึงเอาเค้าโครงเหล่านี้ไปไปเชื่อมโยงเข้าด้วยกันกับเรื่องเล่าเก่าแก่ของชาวโปลินิเชี่ยน พร้อมกับตั้งทฤษฎีว่าชาวโปลินิเชี่ยนได้อพยพย้ายถิ่นฐานไปจากแถบประเทศเปรู แต่พวกเขาเหล่านั้นเดินทางไปกับพาหนะอะไร นี่คือคำถามที่ต้องหาคำตอบต่อไป

  ฮีเยอร์ดอล์ลจึงทำการศึกษาถึงพาหนะที่ชาวชนพื้นเมืองแถบประเทศเปรูใช้แต่โบราณกาลมา ก็ได้ความจากบันทึกที่ชาวสเปนยุคแรก ๆ ซึ่งได้บุกเบิกเดินทางไปพบทวีปอเมริกาเขียนไว้ (ประมาณยุคโคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกา) ว่าเขาเหล่านั้นใช้แพไม้บัลซ่าเป็นพาหนะในการเดินทางทางน้ำ ประกอบกับขณะนั้นชนพื้นเมืองเองเขาก็ยังใช้อยู่ ซึ่งเป็นการแปลกอีกอย่างที่ไม้บัลซ่านั้นจะมีขึ้นเฉพาะแต่ประเทศเปรูแถบเทือกเขาแอนดีสและอีคัวดอร์เท่านั้น นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของทฤษฎีการอพยพย้ายถิ่นฐานที่จะต้องพิสูจน์ด้วยการเดินทางของฮีเยอร์ดอล์ลกับพวกในเวลาต่อมา

 เมื่อฮีเยอร์ดอล์ลสามารถตั้งทฤษฎีของตนได้แล้ว ประการต่อมาก็คือจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าทฤษฎีนี้เป็นความจริง ซึ่งในช่วงแรก ๆ เขาได้พยายามศึกษาทะเลและการเดินทางทางทะเลจากพวกกะลาสีเรือ กัปตันเรือ และสมาคมนักบุกเบิกในนอร์เวย์ พร้อมกับพูดคุยกับบุคคลต่าง ๆ เพื่อหาข้อมูล นอกจากนี้ยังได้ส่งบทความเกี่ยวกับทฤษฎีของตนไปยังสมาคมต่าง ๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้อ่านและเชื่อในทฤษฎีของตน พร้อมกับขอทุนสนับสนุนในการเดินทางเพื่อพิสูจน์ทฤษฎี (ในยุคสมัยนั้นคนนิยมบุกเบิกไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีของตน หรือเพื่อให้ได้รับการจารึกและกล่าวขาน) 

แต่ปรากฏว่าไม่มีใครสนใจอ่านเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน โดยเชื่อว่าชนชาวเกาะเหล่านั้นอาจมีอยู่เพราะการกระทำของพระเจ้าหรือสิ่งอื่น แต่มิใช่การอพยพ และการเดินทางด้วยแพไม้ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิคไกลนับพันไมล์ทะเลอย่างแน่นอน  เพราะเท่ากับเป็นการฆ่าตัวตายนั่นเอง ช่วงแรก ๆ เมื่อทฤษฎีของฮีเยอร์ดอล์ลทราบไปถึงที่ใดก็มีแต่คนหัวเราะเยาะ แต่เขาก็ไม่ละความพยายามทั้งที่ตนเองแทบจะไม่มีเงินติดตัว ต้องไปอาศัยอยู่กับเพื่อนซึ่งเป็นอดีตกัปตันเรือที่พยายามพูดให้เขาล้มเลิกการคิดฆ่าตัวตายครั้งนี้เสีย

  ฮีเยอร์ดอล์ลจึงคิดหาหนทางให้คนมาสนใจด้วยการออกอากาศทางวิทยุในแถบยุโรป จนเป็นที่ฮือฮาอยู่ช่วงหนึ่ง  แต่การรอทุนสนับสนุนเหล่านั้นดูจะลางเลือนเต็มที  ฮีเยอร์ดอล์ลจึงได้ออกหาทุนด้วยตนเอง เพราะระยะเวลาที่จะต้องเดินทางใกล้เข้ามาทุกที (ก่อนจะถึงฤดูฝนและลมสินค้า  มิฉะนั้นก็ต้องรอในปีถัดไป) จนกระทั่งมีคนสนใจจะให้ทุนแต่ขอให้เขียนเรื่องการเดินทางของเขาไว้เพื่อจำหน่ายในภายหลัง

 ประการต่อมาก็ปัญหาเรื่องผู้ร่วมเดินทางที่ฮีเยอร์ดอล์ลต้องเลือกเป็นผู้ร่วมเดินทาง โดยกำหนดไว้ 6 คน รวมตนเอง ซึ่งก็มีผู้สนใจ 5 คน ล้วนแต่เป็นชาวนอร์เวย์และส่วนมากเคยเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยกันทั้งสิ้น จึงมีความสามารถแตกต่างกัน ทว่าทุกคนล้วนแต่ไม่รู้จักและมิใช่ผู้ที่เคยใช้ชีวิตในทะเล จากนั้นได้เดินทางไปประเทศเปรูเพื่อดำเนินการสร้างแพให้ทันกำหนดเวลาเดินทาง ซึ่งก่อนออกเดินทางข่าวของพวกเขาเหล่านี้เป็นที่สนใจของชาวนอร์เวย์และยุโรปเป็นอย่างมาก

 แต่ส่วนมากแล้วก็เห็นว่าเป็นการไปฆ่าตัวตายทั้งสิ้น  อีกทั้งเมื่อไปยังประเทศเปรูแล้วก็ยังประสบอุปสรรคอีกนานัปการ แม้กระทั่งเรื่องการหาต้นไม้บัลซ่าขนาดใหญ่มาสร้างแพ เพราะแถบประเทศเปรูมีการตัดไม้ไปใช้ตอนช่วงสงครามหมดแล้ว จึงต้องไปเอาไม้ที่ประเทศอีคัวดอร์ได้จำนวน 12 ต้น แต่ละต้นได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคลในตำนานเก่าแก่ของชาวโปลินิเชี่ยน และล่องตามลำคลองผ่านป่ามาสู่ทะเล เพื่อล่องต่อไปยังประเทศเปรู

  จากนั้นก็มีปัญหาในเรื่องสถานที่สร้างแพ ฮีเยอร์ดอล์ลสำรวจสถานที่ต่าง ๆ แล้วเห็นว่าอู่เรือของราชนาวีเปรูมีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง แต่ติดขัดในเรื่องระเบียบราชการและการที่พวกผู้จะเดินทางเหล่านี้เป็นชาวต่างชาติ ฮีเยอร์ดอล์ลจึงได้ขอเข้าพบประธานาธิปดีดอน โจเซ่ บุสทามานท์ วาย ริเวโร แห่งเปรู เพื่อขอใช้สถานที่จนได้รับการอนุญาตให้ใช้ได้ เพราะเห็นว่าการเดินทางครั้งนี้เกี่ยวข้องกับเปรูด้วย ระหว่างการสร้างแพโดยใช้ต้นซุงจำนวน 9 ต้น ทำตัวแพผูกยึดด้วยเชือกที่ทำจากต้นไม้ตามกรรมวิธีโบราณทุกประการ

 ตามที่ชาวสเปนยุคบุกเบิกได้บันทึกไว้และตามที่ชาวอินคาปฏิบัติโดยใช้วัสดุอุปกรณ์แบบโบราณ ระหว่างสร้างแพก็มีคนมาชมจำนวนมากซึ่งล้วนแต่ยิ้มเยาะและเห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ กระทั่งแพแล้วเสร็จก็มีการจัดหาสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ในการเดินทาง โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายรวมทั้งจากสถานทูตอเมริกันในเปรู ซึ่งข่าวการสร้างแพและเดินทางของเขาเหล่านี้ได้รับความสนใจจากชาวเปรู อเมริกา และยุโรปเป็นอย่างมาก แต่ส่วนใหญ่มักจะพูดว่าไม่สำเร็จทั้งสิ้น บ้างก็ว่าหากรอดมาได้จะเลี้ยงเหล้าฟรีพวกเขาตลอดชีวิตก็มี  บ้างก็พนันกันว่าแพจะลอยในทะเลได้กี่วันก็มี  

  ในวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1947 แพพร้อมออกเดินทางท่าเรือแคลเลาแออัดไปด้วยผู้คน และมีตัวแทนรัฐบาลเปรู เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน อาร์เจนติน่า คิวบา รัฐมนตรีสวีเดน เบลเยียม นักหนังสือพิมพ์ กล้องถ่ายภาพยนตร์ แตรวง เป็นที่ใหญ่โตครึกครื้น พร้อมกับได้มีการกล่าวเรื่องชาวอินคาผู้ยิ่งใหญ่กษัตริย์แห่งสุริยะผู้หายไปทางทิศตะวันตกของทะเลเปรู และไปปรากฏตัวที่โปลินิเชี่ยนเมื่อ 1500 ปีก่อน ทั้งมีการเจิมแพด้วยลูกมะพร้าว พร้อมกับตั้งชื่อแพว่า “คอน-ทิกิ” ส่วนที่เสากระโดงแพก็มีการติดใบเรือที่มีการวาดรูปศรีษะอันเต็มไปด้วยเคราของคอน-ทิกิ ทาด้วยสีแดง โดยเป็นการจำลองจากเศียรของกษัตริย์แห่งสุริยะซึ่งสกัดไว้ด้วยหินสีแดงบนรูปสลักในเมืองปรักหักพังชื่อเทียฮัวนาโค    

วันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1947 ราชนาวีเปรูมีการนำเรือโยงชื่อ การ์เดียน ริออส ผูกโยงแพพาลากออกไปนอกเขตอ่าวเพื่อให้พ้นทางสัญจร โดยมีฝูงชนมารวมกันที่ท่าเรืออย่างแออัดเพื่อมาชมการเดินทางในครั้งนี้  ทั้งยังมีเรือยอร์ชแล่นไปส่งด้วย กระทั่งแสงสุดท้ายจากชายฝั่งหายไปห่างจากฝั่ง 50-60 ไมล์ทะเล เข้าสู่กระแสน้ำฮัมโบลท์ซึ่งพัดพาไปทางทิศตะวันตก เรือการ์เดียนก็ได้ตัดสายโยงและกลับเปรู ส่วนแพคอน-ทิกิ กับคณะเดินทางรวม 6 คน ก็ได้เดินทางไปตามกระแสน้ำและกระแสลมที่ใบเรือกางเต็มที่มุ่งสู่ทิศตะวันตกห่างจากฝั่งไปทุกที โดยเดินทางไปตามกระแสน้ำที่มิใช่เส้นทางเดินเรือในยุคนั้น แพคอน-ทิกิ จึงเดินทางไปในห้วงมหาสมุทรเพียงลำพัง ไม่พบเรือใด ๆ ในการเดินทางกลางมหาสมุทรครั้งนี้ ได้เสี่ยงภัยนานัปการ ใช้ความกล้าหาญอย่างยิ่งยวด ประสบอุปสรรคนานาประการ เช่น ภัยธรรมชาติ คลื่นลม พายุ สัตว์ต่าง ๆ ในท้องทะเลทั้งที่รู้จักและไม่เคยพบเห็น ทั้งสัตว์ดุร้ายและไม่ดุร้ายขนาดต่างกัน การดำรงชีพในวิถีแบบโบราณกลางทะเล ย้อนรอยเส้นทางเกาะอีสเตอร์ที่มีรูปสลักหินเป็นหัวมนุษย์ขนาดใหญ่ และประวัติศาสตร์ที่มาที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน ทั้งยังเกี่ยวเนื่องถึงเรื่องเล่าของชนเผ่าเมารีที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่กล่าวถึงพาหนะที่เป็น “ไม้มัดเข้าด้วยกันด้วยเชือก” กระทั่งเวลาผ่านไป 93 วัน ในหมู่คลื่น แพคอน-ทิกิ ได้พบเข้ากับเกาะ ๆ แรกของหมู่เกาะโปลินิเชี่ยน

 แต่แพยังเดินทางต่อถึงเกาะถัดไป แต่ไม่สามารถนำแพเข้าเกาะได้ ต้องฝ่าฝันภัยธรรมชาติอย่างมากในการเอาชีวิตรอดและไม่ให้แพแตก กระทั่งไปพบเกาะที่มีชนชาวพื้นเมืองอาศัยอยู่ แต่ก็ประสบปัญหาไม่สามารถเอาแพเข้าฝั่งได้ สุดท้ายกระแสน้ำได้พัดแพไปชนแนวหินโสโครกกราโรเอีย และเกยตื้น ทั้งหกชีวิตต้องช่วยกันเพื่อเอาตัวรอดจนกระทั่งสามารถขึ้นฝั่งที่เกาะร้างดังกล่าวได้อย่างปลอดภัย (พวกเขาตั้งชื่อว่าเกาะคอน-ทิกิ)

 ซึ่งเป็นเวลา 101 วัน นับแต่เดินทางออกจากเปรู ด้วยระยะทางประมาณกว่า 2000 ไมล์ทะเล และทั้งหมดได้ทึ่งกับแพไม้บัลซ่าสุดยอดพาหนะจากภูมิปัญญาของชาวอินคาโบราณ   ต่อมาได้มีชนชาวโปลินิเชี่ยนมาพาพวกเขาไปยังเกาะข้าง ๆ ที่มีคนพักอาศัย โดยชาวเกาะเหล่านี้เมื่อได้พบเห็นแพเข้า พวกเขาต่างตะลึงและตื่นเต้นยิ่งนัก เพราะเคยได้ยินเรื่องแพไม้แต่จากเรื่องเล่าปรัมปรายุคคอน-ทิกิ เทพเจ้าของพวกเขา ไม่นึกว่าแพจะมีจริง ๆ จึงมีการเล่าตำนานให้ฟัง

 หลังจากที่อาศัยที่เกาะได้ระยะหนึ่งพร้อมด้วยการเฉลิมฉลองด้วยมิตรภาพในหมู่ชาวเกาะทะเลใต้ที่งดงาม และระบำฮูลาฮูล่าที่อ่อนช้อย กระทั่งข่าวความสำเร็จและรอดชีวิตของพวกเขาแพร่ออกไปสู่โลกภายนอก  ทางการฝรั่งเศสที่ตาฮิติได้นำเรือมารับพวกเขาไปที่ตาฮิติ (ตาฮิติเป็นเกาะใหญ่ และเป็นศูนย์กลางการปกครองอาณานิคมโปลินิเชี่ยนของฝรั่งเศสในยุคนั้น) พร้อมกับเอาแพคอน-ทิกิ กลับไปด้วย

  ความอาลัยระหว่างผู้เดินทางกับชาวเกาะจึงมีขึ้น แต่ก็จำต้องจากกัน เมื่อเรือถึงตาฮิติก็มีผู้คนแออัดมารอรับพวกเขาที่ท่าเรือจำนวนมากเฉกเช่นวีระบุรุษ และทุกคนที่เป็นชาวเกาะล้วนแต่อยากเห็นแพเป็นอย่างมาก และมีคำกล่าวของหัวหน้าชาวเกาะว่า “เจ้ามาพร้อมข่าวดี แพของเจ้านำฟ้าสีเขียวครามมาสู่ตาฮิติ เพราะขณะนี้เรารู้แล้วว่าปู่ยาตายายเรามาจากไหน” จากนั้นได้มีเรือมารับพวกเขาพร้อมกับแพไปสู่อเมริกา เพื่อเดินทางกลับสู่ศตวรรษที่ 20 ซึ่งปัจจุบันแพไม้บัลซ่าดังกล่าวได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่อเมริกา จำไม่ได้แล้วว่าอยู่ที่สถาบันสมิทโซเนี่ยน หรืออยู่ที่มหาวิทยาลัยอะไร  

    ด้วยเหตุการณ์ผจญภัยเดินทางเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีครั้งนี้เองครับ ช่วงเวลานั้นนาฬิกาแบรนด์นี้ จึงได้ผลิตรุ่น KON-TIKI รุ่นแรกออกมา เพื่อเป็นเกียรติประวัติสำหรับการเดินทางในครั้งนี้ โดยใช้ชื่อและสัญลักษณ์ “แพไม้บัลซ่าที่มีใบอยู่ตรงฝาหลังของนาฬิกา” (ต่อมาภายหลังมีการทำหน้าจอของนาฬิกาให้เป็นรูปคลื่นด้วย) ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชื่อและสัญลักษณ์แพนี้ (ซึ่งชื่อนี้มีความหมายสุดจะบรรยายอยู่ในตัวของมันเอง) ปรากฏอยู่ที่นาฬิกา เพื่อที่ผู้รู้จะได้ระลึกถึงคอน-ทิกิ แพไม้บัลซ่า และนักผจญภัยทั้ง 6 คน นั่นเอง ดังนั้น ETERNA รุ่น KON-TIKI จึงปรากฏลักษณะที่บ่งจำเพาะถึงการเดินทางในครั้งนี้อยู่ที่นาฬิกาทุกเรือน โดยเฉพาะตรงฝาหลังของนาฬิการุ่นนี้จะต้องมีแพไม้บัลซ่าเท่านั้นนะครับ ซึ่งเรือนที่เป็นภาพตัวอย่างนี้หน้าตาขี้เหร่มากครับ แต่เปี่ยมล้มด้วยประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ ซึ่งผ่านการพิสูจน์ทฤษฎีของคนในยุคหนึ่งจนเป็นที่โด่งดังทั่วโลกมาแล้วครับ   
   
    เห็นไหมครับว่านาฬิกา 1 เรือน มีความหมายซ่อนอยู่โดยที่เราไม่รู้อีกมากมาย ดังนั้น จงอย่ามองเพียงว่านาฬิกาเป็นแค่เครื่องบอกเวลา หรือเครื่องประดับนะครับ แต่มันมีคุณค่าในตัวเอง มีเกร็ดประวัติศาสตร์แอบแฝงอยู่ และอื่น ๆ  อีกมากมาย เมื่อท่านอ่านจบแล้วจงกลับไปดูภาพนาฬิกาข้างต้นอีกครั้ง แล้วทบทวนว่าท่านมีความรู้สึกกับนาฬิกาเรือนนี้อย่างไร เหมือนหรือแตกต่างกับที่พบเห็นในครั้งแรก                        
     ขอขอบพระคุณทุก ๆ ท่านที่สละเวลาอ่าน ขอท่านจงเพลิดเพลินกับการเก็บสะสม และหมุนเวียนเปลี่ยนมือนาฬิกาตามใจชอบ แต่อย่าลืมคำนึงถึงความลับแห่งเวลาที่อาจจะซุกซ่อนอยู่ในนาฬิกาบนข้อมือของท่านด้วย มันอาจมีความลับหรือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ซุกซ่อนอยู่ด้วยก็ได้นะครับ

ETERNA แบบ ของสุภาพสตรีหน้าปัดจะเป็นลายรูปคลื่น